ด่วน! กรมวิทย์ประกาศเตือน พบยาเสียสาวตัวใหม่ ภัยใกล้ตัวออกฤทธิ์ภายใน 10 นาที!

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นำโดย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ชื่อว่า “ฟลูอัลปราโซแลม” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “ยาเสียสาว”

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้รับของกลางลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข “5” อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์บนแผงพิมพ์คำว่า “Erimin 5” ตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลม (Flualprazolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ (benzodiazepines) ชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อนในประเทศไทย จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ซึ่งโดยปกติยาเม็ดอีริมิน 5 มีส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ชื่อไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ประเภท 2 และไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย

ยาอีริมินปลอมพบการระบาดมากใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส และยิ่งเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง โดยการใส่หรือผสมยาหรือวัตถุออกฤทธิ์ตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย จากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง Erimin 5 ตั้งแต่ปี 2556 ตรวจพบ Nimetazepam, Nitrazepam, Phenazepam, Diazepam, Clozapine และ Etizolam ดังนั้นการตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นการตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมีการตรวจพบตั้งแต่ปี 2564

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ฟลูอัลปราโซแลม เป็นยากลุ่ม เบนโซไดอะเซปีนส์ ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic benzodiazepines) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับ อัลปราโซแลม (alprazolam) แตกต่างกันที่ ฟลูอัลปราโซแลม มีอะตอมของฟลูออรีนอยู่ในโครงสร้าง ทั้งนี้ ฟลูอัลปราโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับตัวอื่นในกลุ่ม เบนโซไดอะเซปีนส์ โดยออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล และทำให้ง่วงนอน เนื่องจาก ฟลูอัลปราโซแลม ไม่มีการใช้เป็นยาในมนุษย์จึงไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิกของตัวยา แต่จากโครงสร้างทางเคมีคาดว่า ฟลูอัลปราโซแลม ออกฤทธิ์ภายใน 10 – 30 นาที หลังการรับประทาน และออกฤทธิ์นานถึง 6 – 14 ชั่วโมง และเนื่องจากไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนการใช้หรือเสพตัวยาจึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้เสพที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข